วันละครั้ง

วันนี้ผมกะจะเขียนเล่าเรื่องราวความคิดอะไรสักอย่าง แต่ก็ดันลืมไปแล้ว เอาเถอะ อย่างไรเสียมันก็ไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญประการใด แค่การที่ผมนำมันมาตีพิมพ์ลงที่นี่ ก็หมายความว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญขนาดเจาะจงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ ข้อเขีียนที่นำมาลงตรงนี้เป็นข้อเขียนที่ผมทดความคิด อารมณ์ ความรู้สึกเสียมากกว่า เพราะถ้าคำนึงถึงผลกระทบจากข้อเขียน การตีพิมพ์มันลงที่นี่ก็คงจะไม่สร้างอะไรให้แก่สังคมมากนัก ผิดกับที่ลงในจักรวาลเฟสบุ๊คเป็นอย่างยิ่ง ที่จะมีคนเห็น คนแชร์ได้มากกว่า เทียบกับการลงทุนระยะสั้นส่วนตัว

กระนั้น บล็อกธรรมดาๆ ก็มีความหมายในแง่การคงทน มีอำนาจ และสบายๆ กว่าอย่างยิ่ง โดยทั่วไปมันจึงเป็นพื้นที่กึ่งปลอดภัยที่คุณน่าจะลงอะไรก็ได้ บางคนถึงกับเสนอว่ามันควรเป็นแนวทาง peer-review แบบใหม่ของวงวิชาการเสียด้วยซ้ำ เรื่องแบบนี้ผมน่าจะทำลิงก์ไว้ให้ผู้อ่าน แต่ด้วยความขี้คร้านเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะวันนี้ ผมจึงขออนุญาตบ่ายเบี่ยงไปก่อน ถ้ามีโอกาสค่อยมาเล่าสู่กันฟังใหม่อีกครั้ง

เกริ่นไปเยอะแล้ว ย่อหน้าด้านบนเป็นที่มาและเหตุผลในการให้ความชอบธรรมกับการสร้างนิสัยขนาดเล็กๆ อย่างการเขียนบล็อกวันละครั้ง การสร้างนิสัยย่อยๆ จำเป็นต้องทำให้ง่ายเข้าไว้ แล้วค่อยเอาเรื่องย่อยๆ มาต่อกันให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ นึกถึงการขมวดปมสรุปความคิดเป็นก้อนๆ ง่ายๆ แล้วเอามาเติมๆ กันต่อยอดขึ้นไป สิ่งเหล่านี้น่าจะเทียบเคียงได้กับการสลับกลับหัวของแนวคิดแบบอะตอมที่สิ่งต่างๆ ก่อร่างขึ้นมาจากสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ แต่การขมวดปมเป็นก้อนองค์(ความรู้) แล้วมาประกอบต่อกันเพื่อสร้างเป็นความรู้ที่ซับซ้อนขึ้นอีกนั้น ดูผิวเผินเหมือนต่างกัน แต่การมองสิ่งๆ หนึ่งเป็นหน่วย เป็นก้อนนั้น ก็เทียบเคียงคล้ายกันได้ เพราะแม้แต่คำว่าอะตอมยังถูกนำมาใช้แบบย้อนแย้งเล็กน้อย เพราะอะตอมที่แปลว่าแบ่งแยกไม่ได้ กลับกลายเป็นแบ่งแยกได้และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด

แต่อย่างไรเสีย อะตอมที่ว่าก็เป็นก้อนที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวขั้นสุดท้ายของธาตุนั้นๆ

ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ความคิดแบบอะตอมในถูกต่อยอดกลายเป็นลักษณะที่มองสิ่งต่างๆ เป็นก้อนแล้วต่อประกอบกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะขยับมุมมองของก้อนแบบไหน กล่าวให้เห็นภาพมากขึ้นได้ว่า ในโลกการศึกษาที่หลายท่านที่อ่านอยู่นี้น่าจะคุ้นเคยดี เราอาจมองก้อนของระดับการศึกษาได้เป็น ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย และอุดมศึกษาก็ได้ หรืออาจมองเป็นก้อนของระดับชั้นก็ได้ เป็นต้น แถมในก้อนนั้นเราอาจแบ่งแยกได้เรื่อยๆ ไปจนถึงเรื่องความเป็นบุคคล และลึกได้กว่านั้นอาจเป็นองค์อินทรีย์ของการทำงานในระบบชีวิต หรือย่อยไปได้ถึงเซลล์ ถึงอะตอม ฯลฯ

ทั้งนี้ ความอันตรายของการคิดเช่นนี้คือ การขับเน้นมุมมองของก้อนอะไรสักอย่าง ย่อมทำให้เราเห็นถึงการต่อยอดและการผ่าออก พูดง่ายๆ คือ มันเป็นการพูดถึงสิ่งเดี่ยวๆ ที่มาประกบประกอบกันเป็นชิ้นเป็นอันและพร้อมจะแตกสลาย แตกแยกไปได้เสมอ หรือพูดอีกอย่างได้ว่า มันมองจากความเป็นหน่วยแล้วต่อเติมหรือแตกออก แต่สิ่งที่มันจะสูญเสียไป – แม้เราจะรู้ดี – ก็คือความเชื่อมต่อเชื่อมโยงและโครงข่ายโครงสร้างที่หน่วยต่างๆ มีชีวิตอยู่ในนั้นและปฏิสัมพันธ์กันอย่างไม่จบไม่สิ้น หาต้นตอและจุดจบไม่ได้นั่นเอง

เรื่องราวที่น่าสนใจสองอย่างของการถือว่าเป็นเผ่าพันธุ์กับการถือว่าเป็นระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ก็คือการผลิตซ้ำตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการมีลูกได้ หรือสร้างระบบปฏิบัติการนั้นๆ ขึ้นมาโดยใช้แค่ระบบปฏิบัติการนั้นๆ เท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นเผ่าพันธุ์หรือระบบปฏิบัติการที่สมบูรณ์ได้ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นไลเกอร์ (เสือผสมสิงโต) หรือระบบปฏิบัติการที่อยู่ในขั้นทดลอง เช่น Linux kernel ที่ยังไม่ได้เอามารวมกับโปรแกรมพื้นฐานในโครงการ GNU เป็นต้นนั้น ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นเผ่าพันธุ์หรือระบบปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่

ความเป็นสิ่งต่างๆ มักตั้งอยู่บนความสัมพันและโครงสร้างที่ซับซ้อนจนหลายครั้งเราเผลอลืมไป ชีวิตมนุษย์ไม่อาจแม้กระทั่งอยู่รอดผ่านความเป็นทารกออกมาคนเดียวได้ แต่กระฎุมพีหลายคนกลับมองว่าพวกเขา ‘สร้างตัวเองขึ้นมา’ กระทั่งตัวเลขหนึ่งตัว ก็ไม่อาจเรียกตัวเองว่าตัวเลขได้อย่างถนัดใจ หากมันไม่มีเซตของตัวเลขทั้งหมดอยู่เทียบเคียงกันเป็นเบื้องหลัง

และอย่าลืมว่าในเซตทุกเซตย่อมมีเซตว่าง อันเป็นสมาชิกที่ไม่ปรากฏให้เห็นแต่มาหลอกหลอนโครงสร้างอยุ่เสมอ สิ่งเหล่านี้ก็คือการแตกหักกับโครงสร้างเดิมและคอยผลิตโครงสร้างใหม่ขึ้นทุกเมื่อ

การเขียนบล็อกวันละครั้ง เป็นการสร้างนิสัยตามขนบการคิดแบบอะตอม แต่ทั้งนี้นิสัยและการเขียนย่อมมีสิ่งที่ไม่คาดคิดโผล่ขึ้นมาท่ามกลางความเป็นปรกติที่ดำเนินไปอย่างราบรื่น การปฏิวัติเหล่านั้นอาจสร้างงานเขียนหรือสิ่งที่ให้เอ็นจอยเมนต์ขั้นสุดแก่ผู้เขียนและผู้อ่านด้วยความบังเอิญก็ได้

ใครจะรู้?